ประเภทของนาฏศิลป์ไทย



ประเภทของนาฏศิลป์ไทย


โขน  เป็นการแสดงนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยที่มีเอกลักษณ์ คือ ผู้แสดงจะต้องสวมหัวที่เรียกว่า หัวโขน และใช้ลีลาท่าทางการแสดงด้วยการเต้นไปตามบทพากย์ การเจรจาของผู้พากย์และตามทำนองเพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ เรื่องที่นิยมนำมาแสดง คือ พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ แต่งการเลียนแบบเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ที่เป็นเครื่องต้น เรียกว่าการแต่งกายแบบ ยื่นเครื่องมีจารีตขั้นตอนการแสดงที่เป็นแบบแผน นิยมจัดแสดงเฉพาะพิธีสำคัญได้แก่ งานพระราชพิธีต่าง ๆ  โขน คือการแสดงท่ารำเต้นกับจังหวะดนตรี ประกอบด้วย ตัวละครที่เป็นยักษ์ ลิง มนุษย์ และเทวดา ผู้แสดงสวมหัวโขนไม่ร้องและเจรจาเอง แต่ปัจจุบันผู้แสดงเป็นมนุษย์กับเทวดาไม่สวมหัวโขน และเพิ่มการขับร้องประกอบการแสดงแบบละครใน

ที่มาของคำว่าโขน
       โขน เป็นมหานาฏกรรมที่มีศิลปะเป็นแบบฉบับหนึ่งของไทย ซึ่งไม่ปรากฏคำนี้แน่ชัดในจารึกหรือเอกสารยุคโบราณของไทย แต่คำว่า โขนปรากฏกล่าวไว้ในหนังสือของชาวต่างประเทศ ซึ่งกล่าวถึงศิลปะแห่งการเล่นของไทยใน รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดูจะเป็นศิลปะการเล่นที่นิยมและยึดถือเป็นแบบแผนกันมาแล้วจึงเชื่อว่านาฏกรรมชนิดนี้น่าจะมาก่อนสมัยนั้นเป็นเวลานาน
          ส่วนทางด้านภาษานั้น คำว่า โขน อาจเป็นคำซึ่งบัญญัติใช้ขึ้นในภาษาไทย หรือยืมจากภาษาอื่น ๆ ก็ยังไม่พบหลักฐานแต่อย่างใด แต่ภายหลังได้ค้นพบหลักฐานที่อ้างอิงได้บ้างว่าจะเป็นคำที่มีรากฐานมาจากภาษาอื่น จึงมีลักษณะหรือความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า โขน ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยอย่างน้อยก็มีความหมายต่างกัน ๓ ทาง คือ
๑.  คำว่า โขละ หรือ โขล ในภาษาเบงกาลีหมายถึงเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งขึงด้วยหนังและใช้ตีได้ดี ซึ่งมีรูปร่าง
คล้ายตะโพนของไทย
๒. คำว่า โกล หรือ โกลัม ในภาษาทมิฬมีความหมายถึง การแต่งตัว หรือตกแต่งประดับประดาร่างกายผู้แสดงให้
ทราบถึงเพศว่าเป็นเครื่องแต่งกายของผู้หญิงหรือผู้ชาย
๓. คำว่า ควาน หรือ โขน ในภาษาอิหร่าน หรือเปอร์เซีย หมายถึง ผู้อ่านหรือหรือผู้ขับร้องแทนตัวตุ๊กตาหรือหุ่น
หรือหมายถึง ผู้พากย์ ผู้เจรจา แทนหรือตุ๊กตา

ที่มาของศิลปะแห่งการเล่นโขน
          โขน เป็นศิลปะการแสดงที่รวมเอาลักษณะเอกลักษณ์แห่งการแสดงที่พัฒนาการเล่นต่าง ๆ เข้ามารวมกันไว้ได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน สันนิษฐานว่ามาจากการเล่น ๓ อย่างด้วยกัน คือ
              ๑.ชักนาคนึกดำบรรพ์ การทำพิธีกรรมในเรื่องพระนารายณ์กวนน้ำอมฤตประกอบด้วยฝ่ายเทวดา อสูร วานรมีอิทธิพลทางด้านการแต่งกาย แต่งหน้าการสร้างหัวโขน การกำหนดสถานที่แสดงที่เป็นรูปแบบของโขนกลางแปลง
              ๒. หนังใหญ่ ศิลปะการแสดงที่ประกอบด้วยตัวหนังที่ทำมาจากหนังวัวแกะสลักเป็นภาพในเรื่องรามเกียรติ์ ผู้เชิดหนังจะต้องแสดงลีลาการเต้นประกอบดนตรีที่หน้าจอ โดยใช้แสงไฟฟ้าส่องจากด้านหลังจอ ทำให้เกิดเงาภาพหน้าจอหนัง มีคนพากย์ และเจรจา มีอิทธิพลต่อโขนในด้านของเรื่องที่ใช้แสดง บทพากย์เจรจา ท่าเต้น ท่าเชิด ดนตรี สถานที่แสดงที่เป็นต้นกำเนิดของการแสดงโขนหน้าจอ
              ๓.กระบี่กระบอง ศิลปะการต่อสู่ของคนไทยโบราณที่มีการหลบหลีกยั่วยุคู่ต่อสู้ด้วยการชิงไหวชิงพริบโดยใช้อาวุธทำเลียนแบบอาวุธจริง เป็นไม้ โลหะหนังสัตว์ มีทั้งอาวุธสั้น เช่น ดาบ โล่ และอาวุธยาว เช่น พลอง กระบอง หอก เป็นต้นได้ให้รูปแบบวิธีการรำใช้อาวุธ ท่าต่อสู้ กระบวนลีลา ท่ารบต่าง ๆ ในการแสดงโขนซึ่งการละเล่นทั้ง ๓ นี้ ล้วนมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งก่อนและร่วมยุคสมัยกับการแสดงโขนของไทยมาในอดีต

 รูปแบบและลักษณะของการแสดงโขน
          โขน เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทย เดิมผู้แสดงโขนทุกตัวจะต้องสวมหัวโขนปิดหน้าทั้งหมด จึงต้องมีผู้ทำหน้าที่พากย์เจรจา แทนเรียกว่าคนพากย์โขน ต่อมาได้วิวัฒนาการด้านการแต่งหน้านิยมให้ตัวพระและตัวนางใช้การแต่งหน้าอย่างละครแทนการสวมหัวโขนปิดหน้าทั้งหมด แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่พูดส่งเสียงเจรจาด้วยตัวเองและที่น่าสังเกตคือ โขนจะเป็นศิลปะการแสดงที่เน้นรูปแบบของการเต้นเป็นหลัก นิยมจัดแสดงเฉพาะงานพิธีสำคัญ รูปแบบที่เป็นเฉพาะตัวอย่างหนึ่งก็คือ การแต่งกายเลียนแบบเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ หรือที่เรียกว่าแต่งกายยืนเครื่อง มีระเบียบธรรมเนียมในการแสดงที่เคร่งครัด ดำเนินเรื่องค่อนข้างช้า

ประเภทของโขน
          ศิลปะแห่งการแสดงโขนนั้น เข้าใจว่าเดิมคงจะแสดงกันกลางสนามหญ้า จึงเรียกกันว่าโขกลางแปลง ครั้นต่อมาจึงวิวัฒนาการขึ้นโดยมีการยกพื้นทำเวที ปลูกโรงสำหรับเล่นขึ้นและพัฒนามาเป็นลำดับ ซึ่งวิวัฒนาการของโขนจากอดีตจนถึงปัจจุบันนี้ สามารถจำแนกประเภทของการแสดงโขนออกเป็น ๕ ประเภทด้วยกัน คือ
              ๑.  โขนกลางแปลงโขนกลางแปลง คือ การแสดงโขนบนพื้นดินกลางสนามหญ้า นิยมแสดงกลางแจ้ง ไม่มีเวที เชื่อว่าในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้จัดให้มีการแสดงโขนกลางแปลงขึ้นเนื่องในงานฉลองพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมชนกาธิราช และมีการสันนิฐานว่า โขนกลางแปลงคงจะมีแต่การยกทัพและการรบกันเป็นพื้น พลงดนตรีก็มีแต่เพลงหน้าพาทย์ และมีบทพาทย์เจรจาเท่านั้นไม่มีการขับร้อง

ที่มารูป : Google Sites
              

                ๒. โขนโรงนอกหรือโขนนั่งราวโขนโรงนอกหรือโขนนั่งราวคือ โขนที่จัดแสดงบนโรงไม่มีเตียงนั่ง  แต่มีราวไม้กระบอกพาดตามส่วนยาวของโรงตรงหน้าฉากออกมามีช่องทางให้ผู้แสดงเดินได้รอบราวนั้น ตัวโรงมักมีหลังคากันแดดกันฝน  เมื่อตัวโขนที่เป็นตัวเอกออกมาแสดงจะนั่งบนราวไม้กระบอกแทนนั่งเตียง ปี่พาทย์ประกอบการแสดงใช้ ๒ วง  เนื่องจากต้องบรรเลงเพลงหน้าพาทย์มาก ตั้งอยู่บนหัวโรงวงหนึ่ง และท้ายโรงวงหนึ่ง การดำเนินเรื่องโดยการพากย์เจรจา ไม่มีบทขับร้อง  โขนโรงนอกหรือโขนนั่งราว ยังมีวิธีแสดงเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือ ในตอนบ่ายก่อนถึงวันแสดงปี่พาทย์ทั้ง  ๒ วงจะโหมโรง และเมื่อโหมโรงถึงเพลงกราวใน พวกโขนที่เล่นเป็นตัวเสนาจะออกมากระทุ้งเสา  (เส้าหรือเสาไม้) แล้วจับเรื่องแสดงตอนพระราม นางสีดา และพระลักษณ์หลงเข้าไปในสวนพะวาทองของพิราพ พิราพกลับมารู้เรื่องก็โกรธ ยกไพร่พลติดตามไป เมื่อจบตอนนี้ก็เลิกแสดง ผู้แสดงโขนต้องพักนอนเฝ้าโรงโขนคือหนึ่ง  รุ่งขึ้นจึงแสดงในชุดที่กำหนดไว้ด้วยเหตุที่ผู้แสดงโขนต้องนอนเฝ้าโรงโขนนี่เองจึงเกิดมีชื่อเรียกการแสดงโขนตอนนี้ว่า โขนนอนโรง

ที่มารูป : ThaiGoodView.com


              ๓. โขนโรงในเกิดขึ้นเมื่อมีผู้นำการแสดงโขนกับละครในเข้าผสมกัน มีทั้งการแสดงออกท่ารำเต้นและการฟ้อนรำตามแบบละครในการดำเนินเรื่องมีพากย์เจรจาตามแบบโขน และมีเพลงร้องเพลงระบำตามแบบละครในผสมผสานกันไป และในตอนนี้คงเป็นตอนที่กำหนดให้ผู้แสดงดขนเป็นตัวเทพบุตร เทพธิดา และมนุษย์ชายหญิงที่เคยสวมหัวโขนปิดหน้าทั้งหมด เปลี่ยนมาสวมเครื่องประดับศีรษะ เช่น มงกุฎ รัดเกล้า ฯลฯตามแบบละครใน โดยเฉพาะในตอนที่นิยมนำเรื่องรามเกียรติ์ไปแสดงเป็นละครใน ดังเช่น บทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ แสดงให้เห็นว่าโขนกับละครในคลุกเคล้าปะปนกันมาตั้งแต่สมัยนั้น ทั้งได้มีการปรับปรุงขัดเกลา บทพากย์เจรจาให้ไพเราะสละสลวยขึ้นอีก จึงทำให้ศิลปะการแสดงโขนภายในพระราชสำนักงดงามยิ่งขึ้นและภายหลังนำมาแสดงในโรงอย่างละครในจึงเรียกว่า โขนโรงใน

ที่มารูป : https://thapom78.wordpress.com


              ๔. โขนหน้าจอ คือโขนที่แสดงตรงหน้าจอ ซึ่งแต่เดิมขึงไว้สำหรับแสดงหนังใหญ่ ทำด้วยผ้าโปร่งสีขาวสองข้างทั้งซ้ายและขวาเจาะช่องทำเป็นประตูสำหรับผู้แสดงเข้าออก ต่อจากประตูออกไปทางขวาของเวทีเขียนเป็นภาพพลับพลาของพระราม ทางด้านซ้ายของเวทีเป็นภาพปราสาทราชวัง สมมุติเป็นกรุงลงกาหรือเมืองยักษ์ปี่พาทย์ประกอบการแสดงใช้ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ หรือเครื่องคู่ มีพากย์เจรจาและขับร้อง ในปัจจุบันจะเป็นโขนที่แสดงตามงานต่าง ๆ เช่น ที่สนามหลวงกรุงเทพมหานคร หรือตามงานวัดทั่วไป การแสดงโขนหน้าจอนำเอาศิลปะแบบโขนโรงในไปแสดง คือ การขับร้องและการจัดระบำรำฟ้อนแทรกอยู่บางตอน เช่น ตอนศึกพรหมาสตร์ เป็นต้น

ที่มารูป : https://thapom78.wordpress.com


             ๕. โขนฉาก สันนิษฐานว่า โขนฉากเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยมีผู้คิดสร้างฉากประกอบการแสดงโขนบนเวทีขึ้นคล้ายกับละครดึกดำบรรพ์ผู้ที่เป็นต้นคิดนั้นเข้าใจว่าจะเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์วิธีแสดงแบ่งฉากแสดงแบบละครดึกดำบรรพ์ ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงในมีพากย์เจรจาและขับร้อง แต่ปรับปรุงบทให้กระชับขึ้น อาจจะตัดทอนเรื่องราวลงบ้างเป็นบางตอนเพื่อให้พอเหมาะกับฉากและเวลาแสดง โขนที่กรมศิลปากรจัดแสดง ณ โรงละครแห่งชาติ เช่นท้าวมาลีราชว่าความ ชุดพาลีสอนน้อง ฯลฯ ก็เป็นการแสดงแบบโขนฉากทั้งสิ้น โขนฉากยังรวมไปถึงโขนทางโทรทัศน์อีกด้วย เพราะการแสดงโขนทางโทรทัศน์มีฉากประกอบตามท้องเรื่อง


ที่มารูป : http://www.rakbankerd.com




ละคร  เป็นศิลปะการร่ายรำที่เล่นเป็นเรื่องราว มีพัฒนาการมาจากการเล่านิทาน ละครมีเอกลักษณ์ในการแสดงและการดำเนินเรื่องด้วยกระบวนลีลาท่ารำ เข้าบทร้อง ทำนองเพลงและเพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ มีแบบแผนการเล่นที่เป็นทั้งของชาวบ้านและของหลวงที่เรียกว่า ละครโนราชาตรี ละครนอก ละครใน เรื่องที่นิยมนำมาแสดงคือ พระสุธน สังข์ทอง คาวี อิเหนา อุณรุท นอกจากนี้ยังมีละครที่ปรับปรุงขึ้นใหม่อีกหลายชนิด การแต่งกายของละครจะเลียนแบบเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ เรียกว่า การแต่งการแบบยืนเครื่อง นิยมเล่นในงานพิธีสำคัญและงานพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ ละคร

๑.  ละครรำแบบมาตรฐานดั้งเดิม มี ๓ ชนิด คือ
 -  ละครชาตรี  เป็นรูปแบบละครรำที่เก่าแก่ของไทยที่ได้รับการฟื้นฟูจนถึงทุกวันนี้  เรื่องของละครชาตรีมีกำเนิดมาจากเรื่องมโนราห์ ซึ่งมักหาดูได้ในงานแก้บน  ละครชาตรี แต่เดิมผู้แสดงเป็นชายล้วนมีเพียง ๓ คนเท่านั้น  ได้แก่  นายโรง  ซึ่งแสดงเป็นตัวพระ อีก๒ คน คือ ตัวนาง และตัวจำอวด  ซึ่งแสดงตลก และเป็นตัวเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เช่น ฤาษี  พราน  สัตว์   แต่เดิมนิยมแสดงเพียงไม่กี่เรื่อง  เช่น เรื่องมโนราห์  นายโรงจะแสดงเป็นตัวพระสุธน  ตัวนางเป็นมโนราห์  และตัวจำอวดเป็นพรานบุญ  และอีกเรื่องหนึ่งที่นิยมแสดงไม่แพ้กัน คือ เรื่องพระรถเสน  นายโรงเป็นตัวพระรถ  ตัวนางเป็น เมรี  และตัวจำอวดเป็น ม้าพระรถเสนในสมัยหลังละครชาตรี เพิ่มผู้แสดงให้มากขึ้นและใช้ผู้หญิงร่วมแสดงด้วย



ที่มารูป : http://oknation.nationtv.tv

ละครนอก มีการดำเนินท้องเรื่องที่รวดเร็ว  กระชับ  สนุก   การแสดงมีชีวิตชีวา  ส่วนมากใช้ผู้ชายแสดง  และมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  เข้าใจว่าละครนอกมีวิวัฒนาการมาจากละครชาตรี เพราะมุ่งที่จะให้คนดูเกิดความขบขัน  ผู้แสดงละครนอกแต่เดิมมีผู้แสดงอยู่เพียง ๒-๓ คน  เช่นเดียวกับละครชาตรี  ละครนอกไม่คำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับยศศักดิ์และฐานะของตัวละครแต่อย่างใด  ตัวละครที่เป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ก็สามารถโต้ตอบตลกกับเสนากำนัลหรือไพร่พลได้  ละครนอกที่นิยมเล่นได้แก่เรื่อง สังข์ทอง  ไกรทอง  สุวรรณหงส์  พระอภัยมณี  เป็นต้น


ที่มารูป : http://mcpswis.mcp.ac.th


ละครใน  จากรูปแบบของละครนอกที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นตัวละครในวัง  ผู้แสดงหญิงล้วน  แบบอย่างละครในนี้ได้สงวนไว้เฉพาะในวังหลวงเท่านั้น  เพราะว่าผู้ชายนั้นจะถูกห้ามให้เข้าไปในพระราชฐานชั้นใน  บริเวณตำหนักของพระมหากษัตริย์  ซึ่งจะประกอบไปด้วยดนตรีที่มีเสียงไพเราะอ่อนหวาน  ใช้บทร้อยกรองได้อย่างวิจิตรบรรจง  ทั้งดนตรีที่นำมาผสมผสานอย่างไพเราะ  รวมทั้งจะมีท่าทางสง่างาม  ไม่มีการสอดแทรกหยาบโลนหรือตลก  และอนุรักษ์วัฒนธรรมและคุณลักษณะที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมา  เรื่องที่ใช้แสดงละครในนั้นมีอยู่ ๔ เรื่อง ได้แก่  รามเกียรติ์  อุณรุท  อิเหนา  และดาหลัง  


ที่มารูป : http://guru.sanook.com


๒.  ละครที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ มี ๓ ชนิด คือ
ละครดึกดำบรรพ์  เป็นการแสดงละครแบบหนึ่งในประเภทละครรำเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เนื่องมาจากในสมัยรัชกาลที่ ๕ เจ้านายชาวต่างชาติเข้าเข้าเฝ้าอยู่หลายครั้ง จึงโปรดให้มีการละเล่นให้แขกบ้านแขกเมืองได้รับชม  โดยเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน  กุญชร) ได้คิดการแสดงในรูปแบบคอนเสิร์ตโดยเนื้อเรื่องตัดตอนมาจากวรรณคดีไทย  โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงเลือกเพลงและอำนวยการซ้อม  จึงถือว่าการแสดงในครั้งนั้นนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของละครดึกดำบรรพ์   ต่อมาภายหลังเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ได้มีโอกาสชมละครโอเปร่า จึงเกิดความชอบใจและนำปรับปรุงให้เข้ากับละครดึกดำบรรพ์ของไทย  ละครดึกดำบรรพ์ที่นิยมเล่นได้แก่เรื่อง สังข์ทอง  คาวี ฯลฯ


ที่มารูป : http://guru.sanook.com


ละครพันทาง  หมายถึงละครแบบผสม  คือ  การนำเอาลีลาท่าทีของชนต่างชาติเข้ามาปรับปรุงกับท่ารำแบบไทย ๆ  การแสดงละครชนิดนี้แต่เดิมเป็นการริเริ่มของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง  เป็นผู้คิดค้นนำเอาเรื่องของพงศาวดารของชาติต่าง ๆ มาแต่งเป็นบทละครสำหรับแสดง บทที่ใช้มักเป็นบทที่กล่าวถึงตัวละครที่มีเชื้อชาติต่าง ๆ  เช่น พม่า มอญ  จีน  ลาว  บทที่นิยมนำมาเล่นในปัจจุบันมีเรื่องพระลอและราชาธิราชตอนสมิงพระรามอาสา


ที่มารูป : http://www.human.nu.ac.th

ละครเสภา  คือละครที่มีลักษณะการแสดงคล้ายละครนอก  รวมทั้งเพลงร้องนำ  ทำนองดนตรี  และการแต่งกายของตัวละคร  แต่มีข้อบังคับอยู่อย่างหนึ่งคือต้องมีขับเสภาแทรกอยู่ด้วยจึงจะเป็นละครเสภา   ละครเสภาที่นิยมเล่นกันมาก คือ ขุนช้างขุนแผน ตอนพลายเพชรพลายบัวออกศึก ,พระวัยแตกทัพ ,ขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา เป็นต้น


ที่มารูป : http://www.human.nu.ac.th

๓. ละครร้อง  คือละครที่ใช้ศิลปะการร้องดำเนินเรื่อง เป็นละครแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก  แบ่งได้เป็น  ๒  ประเภท คือ
- ละครร้องล้วน ๆ 
- ละครร้องสลับพูด
๔. ละครพูด  คือละครที่ใช้ศิลปะการพูดในการดำเนินเรื่อง  เป็นละครแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก  แบ่งได้เป็น ๒  ประเภท คือ
- ละครพูดล้วน ๆ
- ละครพูดสลับรำ
๕. ละครสังคีต  เป็นละครที่ใช้ศิลปะการพูดและการร้องดำเนินเรื่องเสมอกัน


 รำ และ ระบำ  เป็นศิลปะแห่งการร่ายรำประกอบเพลงดนตรีและบทขับร้องโดยไม่เล่นเป็นเรื่องราว ในที่นี้หมายถึงรำและระบำที่มีลักษณะเป็นการแสดงแบบมาตรฐาน ซึ่งมีความหมายที่จะอธิบายได้พอสังเขป ดังนี้ 
         รำ หมายถึง ศิลปะแห่งการรายรำที่มีผู้แสดง ตั้งแต่ ๑-๒ คน เช่น การรำเดี่ยว การรำคู่ การรำอาวุธ เป็นต้น มีลักษณะการแต่งการตามรูปแบบของการแสดง ไม่เล่นเป็นเรื่องราวอาจมีบทขับร้องประกอบการรำเข้ากับทำนองเพลงดนตรี มีกระบวนท่ารำ โดยเฉพาะการรำคู่จะต่างกับระบำ เนื่องจากท่ารำจะมีความเชื่อมโยงสอดคล้องต่อเนื่องกัน และเป็นบทเฉพาะสำหรับผู้แสดงนั้น ๆ เช่น รำเพลงช้าเพลงเร็ว รำแม่บท รำเมขลา รามสูร เป็นต้น  ส่วนประเภทของการรำ การรำจะแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๒ประเภท คือ   
                  
แบ่งตามลักษณะของการแสดงโขน - ละคร ได้แก่
                 ๑. การรำหน้าพาทย์ เป็นการรำประกอบเพลงแบบหนึ่ง ซึ่งได้มีผู้ให้ความหมายของคำว่า "หน้าพาทย์" ไว้ดังนี้
          "การรำหน้าพาทย์ คือ การรำตามทำนองเพลงดนตรีปี่พาทย์ บรรเลงประกอบการแสดงโขน ละคร และอื่นๆ ผู้แสดงจะต้องเต้นหรือรำไปตามจังหวะ และทำนองเพลงที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะหรือถือหลักการบรรเลงเป็นสำคัญ"
                 ๒. การรำบท เป็นการรำอีกประเภทหนึ่งซึ่งได้มีผู้ให้ความหมายต่างๆดังนี้การรำบท คือ การแสดงท่าทางแทนคำพูดให้มีความหมายต่างไป รวมทั้งแสดงอารมณ์ด้วย หรือการแสดงท่าทางไปตามบท และไม่ใช้เสียงประกอบการพูด ฉะนั้นจึงหมายถึงการแสดงในความหมายของนาฏศิลป์ โดยใช้ภาษาท่าทางสื่อความหมาย

ประเภทที่แบ่งตามลักษณะของการรำ
               ๑.รำเดี่ยว คือ การแสดงการรำที่ใช้ผู้แสดงเพียงคนเดียว ได้แก่ การรำฉุยฉายต่างๆ เช่น ฉุยฉายวันทอง ฉุยฉายเบญกาย เป็นต้น
               ๒.รำคู่ คือการแสดงที่นิยมใช้เบิกโรงอาจจะเกี่ยวข้องกับการแสดงหรือไม่ก็ได้ เช่น รำประเลง รำแม่บท รำอวยพร หรือเป็นการรำคู่ที่ตัดตอนมาจากการแสดงละคร เช่นพระลอตามไก่จากเรื่องพระลอ
               ๓. รำหมู่ คือ การแสดงที่ใช้ผู้แสดงมากกว่า ๒คนขึ้นไป มุ่งความงามของท่ารำ และความพร้อมเพรียงของผู้แสดง เช่น รำวงมาตรฐาน รำพัด รำโคมรำสีนวล
             ระบำ หมายถึง ศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีผู้เล่นตังแต่ ๒ คนขึ้นไป มีลักษณะการแต่งการคล้ายคลึงกัน กระบวนท่ารายรำคล้าคลึงกัน ไม่เล่นเป็นเรื่องราว อาจมีบทขับร้องประกอบการรำเข้าทำนองเพลงดนตรี ซึ่งระบำแบบมาตรฐานมักบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ การแต่งการนิยมแต่งกายยืนเครื่องพระนาง-หรือแต่งแบบนางในราชสำนัก เช่น ระบำสี่บท ระบำกฤดาภินิหาร ระบำฉิ่งเป็นต้น โดยประเภทของระบำเราจะจำแนกออกเป็น ๒ประเภท คือ
                ๑. ระบำมาตรฐาน เป็นระบำแบบดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณกาล ไม่สามารถนำมาเปลี่ยนแปลงท่ารำได้ เพราะถือว่าเป็นการร่ายรำที่เป็นแบบฉบับ บรมครูนาฏศิลป์ได้คิดประดิษฐ์ไว้ และนิยมนำมาเป็นแบบแผนในการรำที่เคร่งครัด การแต่งกายของระบำประเภทนี้ มักแต่งกายในลักษณะที่เรียกว่า "ยืนเครื่อง"
                ๒.ระบำที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ เป็นลักษณะระบำที่ปรับปรุงหรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของผู้แสดง และการนำไปใช้ในโอกาสต่างๆกัน จำแนกออกเป็น
                -ปรับปรุงมาจากพื้นบ้าน หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นมาจากแนวทางความเป็นอยู่ของคนพื้นบ้าน การทำมาหากิน อุตสาหกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีในแต่ละท้องถิ่นออกมาในรูประบำ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นของตน เช่น เซิ้งบั้งไฟ เต้นกำรำเคียว ระบำงอบ ระบำกะลา ฯลฯ
                -ปรับปรุงมาจากท่าทางของสัตว์ หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ตามลักษณะลีลาท่าทางของสัตว์ชนิดต่างๆ บางครั้งอาจนำมาใช้ประกอบการแสดงโขน - ละคร บางครั้งก็นำมาใช้เป็นการแสดงเบ็ดเตล็ด เช่น ระบำนกยูง ระบำนกเขา ระบำมฤครำเริง ระบำตั๊กแตน ฯลฯ
                -ปรับปรุงมาจากตามเหตุการณ์ หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใช้ตามโอกาสที่เหมาะสม เช่น ระบำพระประทีป ระบำโคมไฟ ประดิษฐ์ขึ้นรำในวันนักขัตฤกษ์ ลอยกระทงในเดือนสิบสอง ระบำที่เกี่ยวกับการอวยพรต่างๆสำหรับเป็นการต้อนรับ และแสดงความยินดี
                -ปรับปรุงขึ้นใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ระบำประเภทนี้เป็นระบำประดิษฐ์ และสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางสื่อนำสู่บทเรียน เหมาะสำหรับเด็กๆ เป็นระบำง่ายๆ เพื่อเร้าความสนใจประกอบบทเรียนต่างๆ เช่น ระบำสูตรคูณ ระบำวรรณยุกต์ ระบำเลขไทย ฯลฯ 

๔. การแสดงพื้นเมืองเป็นศิลปะแห่งการร่ายรำที่มีทั้งรำ ระบำ หรือการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนตามวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค 






แหล่งที่มา    https://sites.google.com/site/natsilp1/kar-ra
                    http://www.phattayakulschool.com
                    https://sites.google.com/site/reiynnatsilpkhruxariya/khon-natsilp-thiy-chan-sung

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น