นาฏศิลป์กับบทบาททางสังคม


นาฏศิลป์กับบทบาททางสังคม

            

              นาฏศิลป์ เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่สร้างสรรค์สุนทรียะด้านจิตใจและอารมณ์ให้กับคนในสังคมและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่สามารถสะท้อนวิถีชีวิตและกิจกรรมของคนในสังคม ทั้งที่เป็นกิจกรรมส่วนตัวและกิจกรรมส่วนรวม ดังพิจารณาได้จากบทบาทของนาฏศิลป์ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ใน
ด้านต่าง ๆ ดังนี้


๑. บทบาทในพิธีกรรมรัฐพิธีและราชพิธี การแสดงนาฏศิลป์ในพิธีกรรมต่าง ๆ สามารถแสดงถึงความเชื่อในพลังเหนือธรรมชาติของภูติฝีปีศาจและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เช่น การฟ้อนรำในพิธีลำผีฟ้า เพื่อรักษาโรค หรือสะเดาะเคราะห์ของภาคอีสาน การฟ้อนผีมดผีเม็งในภาคเหนือ ที่จะมีผู้หญิงมาเข้าทรงและฟ้อนรำร่วมกันเป็นหมู่เพื่อการสะเดาะเคราะห์หรือรักษาโรคการแสดงแก้บนในลักษณะละครแก้บน หรือลิเกแก้บน เป็นต้น และยังมีการฟ้อนรำบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และบูชาครูบาอาจารย์ต่าง ๆ เช่น การรำไหว้ครูมวยไทย
การรำอายุธบนหลังช้าง การำถวายมือในพิธีไหว้ครูนาฏศิลป์ เป็นต้น


ที่มารูป : http://konkao.net/read.php?id=22674 


๒. บทบาทในการสร้างสรรค์ มนุษย์มีการพบปะสังสรรค์กันในโอกาสต่างๆ ทั้งในหมู่เครือญาติ เพื่อนฝูง และคนในสังคม หรือท้องถิ่นเดียวกัน เช่น ในงานวันเกิด งานประเพณี และงานเทศกาลต่าง ๆ เป็นต้น ดังเห็นได้จากงานบุญประเพณีสงกรานต์ หรืองานเฉลิมฉลองต่าง ๆ จะมีการแสดงนาฏศิลป์ต่าง ๆ เช่น การฟ้อนรำ โขน ลิเก เป็นต้น ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้คนในท้องถิ่นทั้งหญิงและชายได้พบปะสังสรรค์แลสนุกสนานกับการแสดงต่าง ๆ ร่วมกัน

ที่มารูป : https://www.thairath.co.th/content/847161



๓. บทบาทในการสื่อสาร นาฏศิลป์เป็นกระบวนการหนึ่งทางการสื่อสารที่ทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจกันได้โดยใช้ภาษาท่าทาง หรือท่ารำที่มีความหมายจากการเคลื่อนไหวร่างกายประกอบการพูดหรือการเล่าเรื่องต่าง ๆ หรือภาษาท่าทางในละครใบ้ที่สามารถสื่อความหมายให้ผู้ชมเข้าใจได้โดยการแสดงออทางสีหน้า อารมณ์และ ดนตรีประกอบที่ช่วยกระตุ้นอารมณ์ให้เข้าใจยิ่งขึ้น ซึ่งท่าทางหรือท่ารำต่าง ๆ นี้ อาจกำหนดขึ้นจากการเลียนแบบลักษณะธรรมชาติ เช่น กิริยาท่าทางของมนุษย์หรือสัตว์และท่าทางที่มนุษย์กำหนดขึ้นจากข้อมูลทางวัฒนธรรม เช่น เทวรูป ภาพจำหลัก เป็นต้น

ที่มารูป : https://sites.google.com/site/ajanthus/kaneid-natsilp-thiy



๔.บทบาทในทางการศึกษา นาฏศิลป์เป็นการศึกษาทางด้านศิลปะแขนงหนึ่งที่พัฒนา ควบคู่มากับความเจริญของมนุษย์ โดยเฉพาะความเจริญทางด้านศิลปะวัฒนธรรมที่มีการสร้างสรรค์ และทำนุบำรุงศิลปะให้รุ่งเรือง
ด้วยการสร้างสถาบันการศึกษาด้านนาฏศิลป์ เช่น วิทยาลัยนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร ที่เน้นการเรียนการสอนด้านนาฏศิลป์ให้กับนักเรียนนักศึกษาของไทยและโรงเรียนสอนการแสดงหรือการรำนาศิลป์ขององค์กรเอกชนต่าง ๆ ที่จัดการเรียนขึ้นเป็นระยะสั้น ๆ ให้กับเยาวชนไทยหรือผู้สนใจทั่วไป เพื่อเป็นการ
เสริมสร้างบุคลิกภาพ ความกล้าแสดงออก และคุณภาพชีวิตของผู้ศึกษารวมทั้งยังเป็นการสร้างนาฏยศิลปินให้มีความเชี่ยวชาญ และสามารถใช้นาฏศิลป์เป็นอาชีพเลี้ยงตนเองได้


ที่มารูป : http://www.suphan.biz/natasilp.htm



๕.บทบาทในการอนุรักษ์ และเผยแพร่เอกลักษณ์ของชาติ นาฏศิลป์เป็นการแสดงเอกลักษณ์ ประจำชาติอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องหมายแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะโดดเด่น หรือแตกต่างจากชนชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะนาฏศิลป์ไทยที่มีเอกลักษณ์ด้านท่ารำ เครื่องแต่งกาย และดนตรีไทยประกอบการแสดงซึ่งยังมีความหลากหลายในแต่ละท้องถิ่นของประเทศ ได้แก่ ใน ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ก็มีการแสดงนาฏศิลป์ที่แตกต่างกันออกไป โดยแต่ละท้องถิ่นใดมีการเผยแพร่งานนาฏศิลป์ของท้องถิ่นออกไปให้กว้างไกล ทั้งในท้องถิ่นใกล้เคียงและในต่างประเทศที่อยู่ห่างไกล เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ เช่น ในงานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมและมหกรรมนานาชาติ ตลอดจนให้การสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานนาฏศิลป์ให้เพิ่มพูนและสืบทอดไปยังคนรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งนับเป็นภารกิจของคนในท้องถิ่นหรือประเทศชาตินั้น ๆ ที่ต้องมาร่วมมือกัน โดยเริ่มจากความรักความชื่นชมและภาคภูมิใจในงานนาฏศิลป์ไทย ของเยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกาที่มาจัดแสดงนาฏศิลป์ที่โรงละครแห่งชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความชื่นชมในงานนาฏศิลป์ของชาติตน ที่แม้จะอยู่ถึงต่างประเทศก็ยังห้าการทำนุบำรุงรักษาและสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของบรรพบุรุษให้คงอยู่ และเป็นที่แพร่หลายต่อไป

ที่มารูป : http://www.manager.co.th/lite/ViewNews.aspx?NewsID=9480000088870



๖.บทบาทในการส่งเสริมพลานามัย นาฏศิลป์เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายให้สวยงาม และมีความหมาย ต้องใช้การฝึกหัดและฝึกซ้อมให้จดจำท่าทางต่างๆ ได้ จึงเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่งที่มีการใช้กำลังยกแขน ขา มือ หรือเคลื่อนไหวศีรษะและใบหน้า เพื่อให้เกิดท่าทางและความสนุกสนานไปพร้อม ๆ กัน เช่น การรำกระบี่กระบอง เซิ้ง การรำดาบสองมือ การรำพลอง การำง้าว ก็เป็นการผสมผสานท่าทางนาฏศิลป์กับศิลปะการกีฬาแบบไทย ๆ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการเต้นแอโรบิก หรือการเต้นออกกำลังกายประกอบเพลง ซึ่งเป็นการนำนาฏศิลป์มาประยุกต์ใช้ในการออกกำลังกาย และความแข็งแรงให้กับร่างกาย

ที่มารูป : https://sites.google.com/site/siwaporn1307/









แหล่งข้อมูล https://sites.google.com/a/eisth.org





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น