ประวัติของนาฏศิลป์ไทย



ประวัติของนาฏศิลป์ไทย



                สันนิษฐานว่านาฏศิลป์ไทยมีกำเนิดมาพร้อม ๆ กับชนชาติไทย ที่เป็นเช่นนี้เพราะนาฏศิลป์ไทยเป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่  การแต่งกาย  คติ และความเชื่อของคนไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน  ทั้งนี้อาจสรุปได้ว่า นาฏศิลป์ไทยน่าจะมีที่มาจาก  4 แหล่ง ดังนี้


  • การเลียนแบบธรรมชาติ คือ เริ่มมาจากการแสดงอารมณ์ของมนุษย์ หรือธรรมชาติจึงทำให้เกิดเป็นกิริยาท่าทางต่างๆ เช่น เด็กทารกเมื่อพอใจ ก็หัวเราะหรือตบมือ กระโดดโลดเต้น เมื่อไม่พอใจก็ร้องไห้หรือดิ้นรน เมื่อคนรู้ความหมายของกิริยาท่าทางมากขึ้น ก็จะใช้กิริยาเหล่านั้นเป็นภาษาสื่อความหมาย เพื่อให้ผู้อื่นได้รู้ความรู้สึกและความประสงค์ เช่น ต้องการแสดงความเสน่หาก็ยิ้มแย้ม กรุ้มกริ่มชม้อยชม้ายชายตา หรือโกรธเคืองก็ทำหน้าตาถมึงทึง กระทืบ กระแทก  และต่อมาก็ได้มีผู้ฉลาดเลือกเอากิริยาท่าทาง ซึ่งแสดงอารมณ์ต่างๆ นั้นมาเรียบเรียงสอดคล้อง ติดต่อกันเป็นขบวนฟ้อนรำให้เห็นงามเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจความหมายในการรำ  และใช้ท่ารำในการดำเนินเรื่อง จนเป็นที่ต้องตาติดใจคน




                      ที่มารูป : https://sites.google.com    


  • การเซ่นสรวง บูชา หรือ ลัทธิ ความเชื่อต่างๆ  คือ มนุษย์ในสมัยอดีตมีความเชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้า จึงมีการเซ่นสรวง บูชา เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประทานพรให้ตนสมปรารถนา หรือขอให้ขจัดปัดเป่าสิ่งที่ตนไม่ปรารถนาให้สิ้นไป โดยการบูชาเซ่นสรวงนั้นมักถวาย เช่น อาหาร ขนมหวาน ผลไม้ ดอกไม้ ตลอดจน การขับร้องและการฟ้อนรำ ต่อมาก็มีการฟ้อนรำเพื่อบำเรอกษัตริย์ด้วย เพราะถือว่าเป็นสมมุติเทพที่ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน หรือ มีการฟ้อนรำเพื่อรับขวัญขุนศึกนักรบผู้กล้าหาญ ที่มีชัยในการสงครามปราบข้าศึกศัตรู  แต่ในเวลาต่อมาการฟ้อนรำก็คลายความศักดิ์สิทธิ์ลงมา จนกลายเป็นการฟ้อนรำเพื่อความบันเทิงของคนทั่วไป


ที่มารูป : http://www.at-chiangmai.com/



  •  การละเล่นของชาวบ้านในท้องถิ่น คือ หลังจากเสร็จสิ้นจากภารกิจในแต่ละวันชาวบ้านก็จะหาเวลาว่างมาร่วมกัน   ร้องรำ  ทำเพลง โดยมีการเล่นดนตรีประกอบ และ ตามนิสัยของคนไทยที่เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ชอบร้องเพลงโต้ตอบระหว่างชายกับหญิงจนเกิดเป็นพ่อเพลง แม่เพลงขึ้น และจะมีลูกคู่   คอยร้องรับกันอย่างสนุกสนาน ทำให้ลดความเหนื่อยล้าจากการทำงานไปได้


ที่มารูป : http://www.surinpao.org  


  •  การแสดงที่เป็นแบบแผน คือ นาฏศิลป์ไทยที่เป็นมาตรฐานจะได้รับการปลูกฝัง  และถ่ายทอดจากปรมาจารย์ทางนาฏศิลป์ไทยในวังหลวง  ที่ฝึกให้แก่ผู้หญิงและผู้ชายที่อยู่ในวังเป็นนักแสดงโขน และละคร เพื่อใช้การแสดงในโอกาสต่าง ๆ และการที่นาฏศิลป์ไทยบางส่วนได้รับการถ่ายทอดมาจากวังหลวงนี้เอง ทำให้ทราบได้ว่านาฏศิลป์ไทยมีที่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี  เพราะได้มีการจารึกไว้ในหลักศิลาจารึกหลักที่  8 ว่า “ ระบำ  รำ  เต้น  เล่น  ทุกฉัน” ซึ่งศิลปะการฟ้อนรำก็ได้รับการสืบทอดต่อเนื่องกันเรื่อยมา  จนถึงในสมัยรัตนโกสินทร์จึงได้มีการนำศิลปะการฟ้อนรำที่เป็นแบบแผนมาสู่ระบบการศึกษา  ซึ่งบรรจุอยู่ในหลักสูตรของโรงเรียนนาฏศิลป์หรือวิทยาลัยนาฏศิลป์ในปัจจุบัน

ที่มารูป : http://cdasp72000.blogspot.com

  • การรับอารยธรรมของอินเดีย คือ นาฏศิลป์ไทยได้รับอิทธิพล แบบแผนเกี่ยวกับเทพเจ้า และตำนานการฟ้อนมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งสันนิษฐานว่า อารยธรรมทางศิลปะด้านนาฎศิลป์ของอินเดียนี้ได้เผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุทธยา โดยผ่านชนชาติชวาและเขมร ก่อนที่จะนำมาปรับปรุงให้เป็นรูปแบบตามเอกลักษณ์ของไทย และ ในบางยุคของชาวอินเดียถือว่าพระอิศวรเป็นเทพเจ้าที่มีผู้เคารพนับถือมาก  และในยุคนี้ถือว่าพระอิศวรทรงเป็นนาฏราช (ราชาแห่งการร่ายรำ) ซึ่งมีประวัติทั้งในสวรรค์และในเมืองมนุษย์ว่าในการร่ายรำของพระอิศวรแต่ละครั้งพระองค์ทรงให้พระภรตฤๅษีเป็นผู้บันทึกท่ารำ  แล้วนำมาสั่งสอนแก่เหล่ามนุษย์จนเป็นที่มาของตำนานการฟ้อนรำ ซึ่งในการเรียนนาฏศิลป์ไทยผู้เรียนทุกคนจะต้องเข้าพิธีไหว้ครูโขน-ละครก่อน ซึ่งได้แก่  พระอิศวร พระนารายณ์  พระพรหม  พระพิฆเนศวร  พระพิราพ และพระภรตฤๅษี


ที่มารูป : https://sites.google.com








แหล่งที่มา   https://stu40428.wordpress.com/
                   http://oknation.nationtv.tv



1 ความคิดเห็น: