นาฏศิลป์ไทยสี่ภาค


นาฏศิลป์ไทยสี่ภาค


       นาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือ

จากสภาพภูมิประเทศที่อุดมไปด้วยป่า มีทรัพยากรมากมาย มีอากาศหนาวเย็น ประชากรมีอุปนิสัยเยือกเย็น นุ่มนวล งดงาม รวมทั้งกิริยา การพูดจา มีสำเนียงน่าฟัง จึงมีอิทธิพลทำให้เพลงดนตรีและการแสดง มีท่วงทำนองช้า เนิบนาบ นุ่มนวล ตามไปด้วย การแสดงของภาคเหนือเรียกว่า ฟ้อน เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนสาวไหม เป็นต้น ภาคเหนือนี้มีการแสดงหรือการร่ายรำที่มีจังหวะช้า ท่ารำที่อ่อนช้อย นุ่มนวล เพราะมีอากาศเย็นสบาย ทำให้จิตใจของผู้คนมีความนุ่มนวล อ่อนโยน ภาษาพูดก็นุ่มนวลไปด้วย เพลงมีความไพเราะ อ่อนหวาน ผู้คนไม่ต้องรีบร้อนในการทำมาหากิน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการแสดงนาฏศิลป์ของภาคเหนือ
นาฏศิลป์ของภาคเหนือเช่น ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนมาลัย ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง(ฟ้อนเจิง) ตีกลองสะบัดไชย ซอ ค่าว นอกจากนี้ นาฏศิลป์ของภาคเหนือยังได้รับอิทธิพลจากประเทศใกล้เคียง ได้แก่ พม่า ลาว จีน และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เช่น ไทยใหญ่ เงี้ยว ชาวไทยภูเขา ยอง เป็นต้น
ดังนั้น นาฏศิลป์พื้นเมืองของภาคเหนือ นอกจากมีของที่เป็น คนเมืองแท้ๆ แล้วยังมีนาฏศิลป์ที่ผสมกลมกลืนกับชนชาติต่างๆ และของชนเผ่าต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น อิทธิพลจากพม่า เช่น ฟ้อนม่านมงคล ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา นาฏศิลป์ของชนเผ่าต่างๆ เช่น ฟ้อนนก(กิงกาหล่า ไทยใหญ่) ฟ้อนเงี้ยว (เงี้ยว) ระบำเก็บใบชา(ชาวไทยภูเขา)เป็นต้น

ตัวอย่างนาฏศิลป์พื้นเมืองของภาคเหนือ

ฟ้อนผาง 

เป็นศิลปะการฟ้อนที่มีมาแต่โบราณ เป็นการฟ้อนเพื่อบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ลีลาการฟ้อนดำเนินไปตามจังหวะของการตีกลองสะบัดชัย มือทั้งสองจะถือประทีปหรือผางผะตี้บ แต่เดิมใช้ผู้ชายแสดง ต่อมานายเจริญ จันทร์เพื่อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ดำริให้คณะครูอาจารย์หมวดวิชานาฏศิลป์พื้นเมืองเป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำให้เหมาะสมกับผู้หญิงแสดง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากนายมานพ ยาระณะ ศิลปินพื้นบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดท่าฟ้อนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับท่ารำโดยมีนายปรีชา งามระเบียบรักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่(ฝ่ายกิจกรรม)เป็นผู้ควบคุมการประดิษฐ์ท่ารำ

ลักษณะการแต่งกายแต่งแบบชาวไทยลื้อ สวมเสื้อป้ายทับข้าง เรียกว่า “เสื้อปั๊ด” หรือ “เสื้อปั๊ดข้างขลิบริมด้วยผ้าหลากสีเป็นริ้ว นุ่งผ้าซิ่นเป็นริ้วลายขวาง ประดับด้วยแผ่นเงิน รัดเข็มขัดเงินเส้นใหญ่ ติดพู่แผงเงิน ใส่ต่างหูเงินและสวมกำไลข้อมือเงิน สำหรับทำนองเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงชุดฟ้อนผางให้ชื่อว่า “เพลงฟ้อนผาง” แต่งโดยนายรักเกียรติ ปัญญายศ 


ที่มารูป : https://fonnthai.wordpress.com

ระบำชาวเขา

เป็นการแสดงของชาวเขาเผ่าลิซู หรือลีซอโดยเป็นระบำชุดที่ใช้แสดงในงานรื่นเริงต่าง ๆ ชุดที่ใช้ได้รับการประยุกต์มาจากเครื่องแต่งกายที่ชาวเผ่าลิซูใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงคือ ขลุ่ยไม้ไผ่ สะล้อ และพิณ

                                                                                         ที่มารูป : www.veesmiletravel.com 

ฟ้อนที
คำว่า “ที” หมายถึง “ร่ม” เป็นคำภาษา “ไต” ใช้เรียกในจังหวัดแม่ฮ่องสอน “ที” ทางภาคเหนือมีลักษณะและรูปทรงแตกต่างกันไปแต่ละจังหวัด “ที” ที่ชาวแม่ฮ่องสอนนิยมใช้มีรูปทรงสวยนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการรำได้ฟ้อนทีเป็นผลงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ จัดแสดงในงานนิทรรศการและการแสดงศิลปวัฒนธรรมของสถานศึกษาในสังกัดกองศิลปศึกษา กรมศิลปากร เพื่อเทิดพระเกียติมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๕ การแสดงชุดนี้นำร่มมาใช้ประกอบลีลานาฎศิลป์โดยมีท่าฟ้อนเหนือของเชียงใหม่ผสมกับท่ารำไตของแม่ฮ่องสอน มีการแปรแถว และลีลาการใช้ร่มในลักษณะต่าง ๆ ที่งดงาม เช่น การถือร่ม การกางร่ม การหุบร่ม เป็นต้น
ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ใช้ดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือประสมวง ได้แก่ สะล้อกลาง สะล้อเล็ก ซึ่งใหญ่ ซึงกลาง ซึงเล็ก ขลุ่ย กรับคู่ กลองพื้นเมือง
การแต่งกายและทำนองเพลง
มุ่งเน้นความสวยงามของเครื่องแต่งกายตามประเพณีนิยมภาคเหนือ แบ่งเป็น ๒ แบบ คือ แบบหญิงไทลื้อ และแบบหญิงล้านนาแบบไทลื้อ นุ่งซิ่นลายขวาง เสื้อปั๊ด เกล้าผมสูงประดับดอกไม้เงิน ผ้าเคียนศีรษะประดับกำไลข้อมือ ต่างหูแบบล้านนา นุ่งซิ่นตีนจก ผ้าคาดเอว เสื้อเข้ารูปแขนยาว เกล้าผมมวยตั้งกระบังผมหน้าสูง ประดับดอกไม้เงิน เครื่องประดับมีเข็มขัด กำไลข้อมือ สร้อยคอ ต่างหู การแสดงชุดนี้ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที 

ที่มารูป : Google Sites


            นาฏศิลป์พื้นเมืองภาคกลาง

        การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง เป็นศิลปะการรำ และการละเล่นของชาวพื้นบ้านภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมศิลปะการแสดงจึงมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและเพื่อความบันเทิง สนุกสนาน เป็นการพักผ่อนหย่อนใจจากการทำงาน หรือเมื่อเสร็จจากฤดูเก็บเกี่ยว ส่วนมากเป็นการละเล่นประเภทการร้องโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิงโดยใช้ปฏิภาณไหวพริบในการร้องด้นกลอนสด เช่น ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงพวงมาลัย เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เต้นกำรำเคียว เพลงอีแซว เพลงปรบไก่ เพลงเหย่อย รำเถิดเทิง ฯลฯ ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น กลองยาว กลองโทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ และ โหม่ง

ตัวอย่างนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคกลาง


เต้นกำรำเคียว
            เป็นการแสดงพื้นเมืองของจังหวัดนครสวรรค์ นิยมเล่นกันตามท้องนา ผู้แสดงทั้งชายและหญิงถือเคียวมือหนึ่งถือถือรวงข้าว ร้องเกี้ยวพาราสีกันอย่างสนุกสนาน

ที่มารูป: Google Sites


รำเหย่อย หรือรำพาดผ้า
            เป็นการละเล่นที่แสดงวิถีชีวิตอันสนุกของชาวบ้านหมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นการร้องรำ เกี้ยวพาราสีระหว่างชาย-หญิง เริ่มการแสดงด้วยการประโคมกลองยาว จบแล้วผู้แสดงชาย-หญิง ออกรำทีละคู่

ที่มารูป: http://nattapornpan.blogspot.com/


           นาฏศิลป์พื้นเมืองภาคอีสาน

            ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปของภาคอีสานเป็นที่ราบสูง มีแหล่งน้ำจากแม่น้ำโขง แบ่งตามลักษณะของสภาพความเป็นอยู่ ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน ประชาชนมีความเชื่อในทางไสยศาสตร์มีพิธีกรรมบูชาภูตผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การแสดงจึงเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และสะท้อนให้เห็นถึงการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี การแสดงของภาคอีสานเรียกว่า เซิ้ง เป็นการแสดงที่ค่อนข้างเร็ว กระฉับกระเฉง สนุกสนาน เช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งโปงลาง เซิ้งกระหยัง เซิ้งสวิง เซิ้งดึงครกดึงสาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี ฟ้อนที่เป็นการแสดงคล้ายกับภาคเหนือ เช่น ฟ้อนภูไท (ผู้ไท) เป็นต้น

ตัวอย่างนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคอีสาน

เซิ้งสวิง 
เป็นการละเล่นพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในท้องถิ่นอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นการละเล่นเพื่อส่งเสริมด้านจิตใจของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งมีอาชีพในการจับสัตว์น้ำ โดยมีสวิงเป็นเครื่องมือหลัก ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านผู้เชี่ยวชาญนาฎศิลป์ไทย กรมศิลปากร จึงได้นำท่าเซิ้งศิลปะท้องถิ่นมาปรับปรุงให้เป็นท่าที่กระฉับกระเฉงขึ้น โดยสอดคล้องกับท่วงทำนองดนตรี ที่มีลักษณะสนุกสนานร่าเริง เครื่องดนตรี ที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงชุดเซิ้งสวิง ได้แก่ กลองยาว กลองแต๊ะ แคน ฆ้องโหม่ง กั๊บแก๊บ ฉิ่ง ฉาบ กรับ
การแต่งกายและทำนองเพลง
ชาย สวมเสื้อม่อฮ่อม นุ่งกางเกงขาก๊วย มีผ้าขาวม้าโพกศีรษะและคาดเอว มือถือตะข้อง หญิง นุ่งผ้าซิ่นพื้นบ้านอีสาน ผ้ามัดหมี่มีเชิงยาวคลุมเข่า สวมเสื้อตามลักษณะผู้หญิงชาวภูไท คือสวมเสื้อแขนกระบอกคอปิด ผ่าอก ประดับเหรียญโลหะสีเงิน ปัจจุบันใช้กระดุมพลาสติกสีขาวแทน ขลิบชายเสื้อ คอ ปลายแขน และขลิบผ่าอกตลอดแนวด้วยผ้าสีตัดกัน เช่น สีเขียวขลิบแดง หรือสวมเสื้อกระบอกคอปิด ผ่าอก ห่มสไบเฉียงทับตัวเสื้อ สวมสร้อยคอโลหะทำด้วยเงิน ใส่กำไลข้อมือและกำไลข้อเท้า ผมเกล้ามวยสูงไว้กลางศีรษะ ทัดดอกไม้ มือถือสวิง

ที่มารูป: Google Sites

เซิ้งโปงลาง
โปงลางเดิมเป็นชื่อของโปงที่แขวนอยู่ที่คอของวัวต่าง โปงทำด้วยไม้หรือโลหะ ที่เรียกว่าโปงเพราะส่วนล่างปากของมันโตหรือพองออก ในสมัยโบราณชาวอีสานเวลาเดินทางไปค้าขายยังต่างแดน โดยใช้บรรทุกสินค้าบนหลังวัว ยกเว้นวัวต่างเพราะเป็นวัวที่ใช้นำหน้าขบวนผูกโปงลางไว้ตรงกลางส่วนบนของต่าง เวลาเดินจะเอียงซ้ายทีขวาทีสลับกันไป ทำให้เกิดเสียงดัง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกให้ทราบว่าหัวหน้าขบวนอยู่ที่ใด และกำลังมุ่งหน้าไปทางไหนเพื่อป้องกันมิให้หลงทางส่วนระนาดโปงลางที่ใช้เป็นดนตรีปัจจุบันนี้ พบมากที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกว่า "ขอลอ" หรือ "เกาะลอ" ดังเพลงล้อสำหรับเด็กว่า "หัวโปก กระโหลกแขวนคอ ตีขอลอดังไปหม่องๆ" ชื่อ "ขอลอ" ไม่ค่อยไพเราะจึงมีคนตั้งชื่อใหม่ว่า "โปงลาง" และนิยมเรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน ไม้ที่นำมาทำเป็นโปงลางที่นิยมกันได้แก่ ไม้มะหาด และไม้หมากเหลื่อม การเล่นทำนองดนตรีของโปงลางจะใช้ลายเดียวกันกับ แคน และพิณ ลายที่นิยมนำมาจัดท่าประกอบการฟ้อน เช่น ลายลมพัดพร้าว ลายช้างขึ้นภู ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายนกไซบินข้ามทุ่ง ลายแมงภู่ตอมดอก ลายกาเต้นก้อน เป็นต้น
การแต่งกายและทำนองเพลง
ใช้ผู้แสดงหญิงล้วนสวมเสื้อแขนกระบอกสีพื้น นุ่งผ้ามัดหมี่ใช้ผ้าสไบเฉียงไหล่ ผูกโบว์ตรงเอว ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ลายโปงลางหรือลายอื่นๆ

ที่มารูป: Google Sites



        นาฏศิลป์พื้นเมืองภาคใต้


            โดยทั่วไปภาคใต้มีอาณาเขตติดกับทะเลฝั่งตะวันตกและตะวันออก ทางด้านใต้ติดกับมลายู ทำให้รับวัฒนธรรมของมลายูมาบ้าง ประชากรจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณีและบุคลิกบางอย่างที่คล้ายคลึงกันคือ พูดเร็ว อุปนิสัยว่องไว ตัดสินใจ รวดเร็ว เด็ดขาด มีอุปนิสัยรักพวกพ้อง รักถิ่นที่อยู่อาศัย และศิลปวัฒนธรรมของตนเอง จึงมีความพยายามที่จะช่วยกันอนุรักษ์ไว้จนสืบมาจนถึงทุกวันนี้

การแสดงของภาคใต้มีลีลาท่ารำคล้ายกับการเคลื่อนไหวของร่างกายมากกว่าการฟ้อนรำ ซึ่งจะออกมาในลักษณะกระตุ้นอารมณ์ให้มีชีวิตชีวาและสนุกสนาน เช่น โนรา หนังตะลุง รองเง็ง ตารีกีปัส เป็นต้น 


ตัวอย่างนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคใต้

ลิเกป่า
เป็นการแสดงพื้นบ้านทางภาคใต้  เดิมเรียกว่า  ลิเก  หรือ ยี่เก  เมื่อลิเกของภาคกลางได้รับการเผยแพร่สู่ภาคใต้จึงเติมคำว่า  ป่า  เพื่อแยกให้ชัดเจน  เมื่อประมาณ  ๓๐  ปีที่ผ่านมาลิเกป่าได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง  แถบพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะจังหวัดกระบี่  ตรัง พังงา  ส่วนทางฝั่งทะเลตะวันออก ที่เป็นแหล่งความเจริญก็มีลิเกป่าอยู่แพร่หลาย  เช่น อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง อำเภอสะทิงพระ  จังหวัดสงขลา  และอำเภอเมือง  จังหวัดสงขลา  ปัจจุบันได้เสื่อมความนิยมลงจนถึงขนาดหาชมได้ยาก

ที่มารูป: https://www.manager.co.th

รองเง็ง

การเต้นรองเง็งสมัยโบราณ  เป็นที่นิยมกันในบ้านขุนนาง หรือเจ้าเมืองในสี่จังหวัดชายแดน ต่อมาได้แพร่หลายสู่ชาวบ้านโดยอาศัยการแสดงมะโย่งเป็นเรื่องและมีการพักครั้งละ ๑๐ – ๑๕ นาที  ระหว่างที่พักนั้นสลับฉากด้วยรองเง็ง  เมื่อดนตรีขึ้นเพลงรองเง็ง  ฝ่ายหญิงที่แสดงมะโย่งจะลุกขึ้นเต้นจับคู่กันเอง   เพื่อให้เกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้น   มีการเชิญผู้ชมเข้าร่วมวงด้วย   ภายหลังมีการจัดตั้งคณะรองเง็งแยกต่างหากจากมะโย่ง  ผู้ที่ริเริ่มฝึกรองเง็ง  คือ ขุนจารุวิเศษศึกษากร ถือว่าเป็นบรมครูทางรองเง็ง  เดิมการเต้นรองเง็งจะมีลีลาตามบทเพลงไม่น้อยกว่า ๑๐ เพลง  แต่ปัจจุบันนี้ที่นิยมเต้นมีเพียง    เพลงเท่านั้น
วิธีการแสดงรองแง็ง 
การเต้นรองเง็ง ส่วนใหญ่มีชายหญิงฝ่ายละ ๕ คน โดยเข้าแถวแยกเป็นชายแถวหนึ่งหญิงแถวหนึ่งยืนห่างกันพอสมควร ความสวยงามของการเต้นรองเง็งอยู่ที่ลีลาการเคลื่อนไหวของเท้า มือ   ลำตัว  และลีลาการร่ายรำ   ตลอดจนการแต่งกายของคู่ชายหญิง  และความไพเราะของดนตรีประกอบกัน
การแต่งกาย   ผู้ชายแต่งกายแบบพื้นเมือง   สวมหมวกไม่มีปีก    หรือใช้หมวกแขกสีดำ  นุ่งกางเกงขายาวกว้างคล้ายกางเกงจีน   สวมเสื้อคอกลมแขนยาวผ่าครึ่งอกสีเดียวกับกางเกง ใช้โสร่งยาวเหนือเข่าสวมทับกางเกงเรียกว่า  ซอแกะ 

ที่มารูป: https://yala-patani-naratiwat.blogspot.com










แหล่งข้อมูล  https://nokphatchara.wordpress.com
   http://mcpswis.mcp.ac.th/html_edu/cgi-bin/mcp/main_php/print_informed.php       id_count_inform=11252



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น